Makkha Design Studio
เรื่อง เกวลิน ศักดิ์สยามกุลภาพ ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์ The Cloud | 5 July 2021

Makkha อ่านว่า มัก-คา มีที่มาจากคำว่า มรรคา แปลว่าเส้นทาง
คนต้นคิดได้ไอเดียตอนนั่งดื่มกาแฟอยู่ริมฟุตปาธ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับมอคค่าและไม่เกี่ยวข้องกับมรรคทั้ง 8 ที่เป็นเส้นทางไปสู่นิพพานในคำสอนของพุทธศาสนาเช่นกัน กระนั้นก็แฝงโดยนัยว่า Makkha คือสตูดิโอออกแบบที่อยากเป็นทางเชื่อมระหว่างงานทำมือกับงานอินดัสเทรียล ผู้ผลิตกับผู้เสพศิลป์ และเรื่องเล่าของสิ่งไม่มีชีวิตกับผู้ฟังที่มีชีวิต
บทสนทนาของเรากับนักออกแบบสองชีวิตผู้ปลุกปั้น Makkha Design Studio อย่าง นิว-โสภณัฐ สมรัตนกุล และ พี-พริษฐ์ นิรุตติศาสน์ คือการออกเดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน บนแนวคิดการสร้างงานที่จะบอกว่าเป็น Pure Art (งานศิลปะที่เน้นความงาม ไม่เน้นประโยชน์ใช้สอย) ก็ไม่ใช่ จะเป็น Design (งานออกแบบที่เน้นอรรถประโยชน์และการแก้ปัญหา) ก็ไม่เชิง แต่ที่ชัดเจนคือผลงานของทั้งคู่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด Innovative Craft Award: ICA จาก SACICT (กรมส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ) เมื่อ ค.ศ. 2019
ผลงานที่คว้ารางวัลชื่อ ‘จิบ-เว-ลา’ เป็นวัสดุโลหะผสมผสานกับไม้ เล่าเรื่องราวของช่วงเวลากับคลื่นน้ำ
ขอให้วางเส้นแบ่งทุกรูปแบบไว้ตรงบทนำ
และจงดำดิ่งไปกับเรื่องเล่าจากวัสดุที่นิวและพีขัดเกลาออกมาผ่านชิ้นงานไปด้วยกัน
-เรื่องเล่าของวัสดุกับกระบวนการ-
ย้อนกลับไปในวันที่ยังเป็นนักศึกษาภาควิชาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นิวและพีมีสถานะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่ก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันหลายโปรเจกต์ สิ่งที่เชื่อมพวกเขาเอาไว้ก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด
นอกจากความคลั่งไคล้ใน ‘วัสดุ’
หลังจบการศึกษา เนิร์ดวัสดุทั้งสองคนแยกย้ายกันไปทำงานตามเส้นทางของตัวเองที่ไม่เข้ากันเอาเสียเลย พีทำงานเป็นนักออกแบบเครื่องประดับและ Decorative Items เน้นงานพาณิชย์และใช้กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนนิวทำงานกับบริษัทที่เขาคุ้นชินมาตั้งแต่ฝึกงาน โฟกัสที่งานคราฟต์ แต่ก็มีคาแรกเตอร์ของ Research & Development อยู่ด้วย แต่เส้นทางชีวิตก็พาพวกเขากลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้งในงานประกวดของ SACICT
พีเล่าจุดเริ่มต้นความสนใจเรื่องวัสดุว่า มาจากแนวคิดสัจจะวัสดุของสายประติมากรรมที่พวกเขาเรียน
“ในทางประติมากรรมเขาไม่ค่อยใช้สีกัน เพราะมีความเชื่อเรื่องสัจจะวัสดุ คือการให้วัสดุได้แสดงตัวตนและเล่าเรื่องในแบบที่เขาเป็น วัสดุทุกอย่างเล่าเรื่องในแบบของมัน แน่นอนว่าแต่ละวัสดุเล่าเรื่องไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่พาเขาไปอยู่ในเส้นทางที่เขาจะเล่าเรื่องได้ดีที่สุด” พีขยายความสัจจะวัสดุให้คนไม่รู้อย่างเราฟังแล้วเข้าใจง่ายขึ้น
“เบื้องต้นเราเริ่มจากงานโลหะก่อน งานเคาะ งานดุน งานประกอบ แต่ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัวว่าต้องเป็นโลหะเท่านั้น” นิวเล่าบ้าง ก่อนพีจะเสริมต่อว่า “เรานำวัสดุธรรมชาติมาใช้มากขึ้น ประยุกต์โลหะเข้าไปเป็นส่วนประกอบของงาน อย่าง ‘อนิจจัง’ งานล่าสุดที่จัดแสดงใน Mango Art Festival เราใช้เส้นใยของใบไม้เป็นแกนกลางและใช้เทคนิคการเกาะผลึก ทำให้ผลึกโลหะเข้าไปเกาะและกลายเป็นรูปทรงเดียวกับใบไม้ในที่สุด จริงๆ เป็นเทคนิคเก่าที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงหลังไม่ค่อยมีคนใช้แล้ว เหมือนจะตายไป แต่เราสองคนก็อยากทดลองกับมันดูอีกครั้ง”
สองนักออกแบบหนุ่มบอกกับเราว่า เทคนิคการขึ้นชิ้นงานไม่ใช่แก่นการทำงานของ Makkha Design Studio เสมอไป หลายต่อหลายครั้งพวกเขาใช้เรื่องราวที่ได้ยินจากชิ้นวัสดุเป็นสารตั้งต้นของผลงานที่กำลังจะทำ
“เราขลุกกับโลหะกันเยอะและเห็นบางอย่างกับมัน” นิวอธิบายหลังใช้เวลาคิดอยู่หลายวินาที “เวลาโลหะผุ มันมีเรื่องราวของความเก่า ถ้าอยู่ในฟอร์มของรถ เราก็เห็นรถเก่า ซากปรักหักพัง บางคนนึกถึงความ Dystopia แม้จะเป็นแค่โลหะผุ มันกำลังเล่าบางสิ่ง ตอนเราทำ จิบ-เว-ลา แค่นำรอยเคาะบนโลหะมาเรียงกันก็เกิดเอฟเฟกต์ที่ทำให้รู้สึกถึงน้ำ
“มนุษย์มองเห็นอะไรก็คิดต่อไปถึงสิ่งอื่นได้เสมอโดยธรรมชาติ เช่น คนทำงานโฆษณาอาจบอกว่า เขาไม่ได้นึกถึงแค่ความดี-ความชั่ว เวลาเห็นสีขาวกับสีดำ หรือประกันชีวิต อาจเท่ากับความรู้สึกปลอดภัย”
ฟังดูแล้วเหมือนนิวกำลังบอกกับเราว่า พวกเขาคุยกับวัสดุที่ไม่มีชีวิตได้อย่างไรอย่างนั้น
“ก็ไม่ใช่ว่านั่งคุยกับแม่ซื้อหรอกครับ” พีตอบติดตลก “เวลาที่เรามองหรือสัมผัสวัสดุ เรานึกไปได้เยอะมาก แยกองค์ประกอบมัน อยากรู้ว่ามันผลิตมาอย่างไร ทำไมถึงมีคุณสมบัติ พื้นผิว หรือสะท้อนแสงแบบนี้ แล้วเรารู้สึกอะไรเมื่อมองมัน ก็คงเหมือนเวลาที่จิตรกรเลือกสีใช้วาดภาพ เราว่าวัสดุแต่ละชิ้นก็มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง”
“แม้เราจะบอกว่าวัสดุบางชนิดคงทนถาวร แต่ทุกวัสดุมีครึ่งชีวิตของตัวเอง เวลามองพลาสติก เราจะรู้สึกว่ามันใหม่หรือเก่า หลายครั้งงานของ Makkha เลยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเวลา เพราะมันคือสิ่งที่วัสดุกำลังเล่าให้เราฟัง เราเลยไม่ได้ทำรูปร่างหวือหวามากมาย แต่ใช้เทกซ์เจอร์ของวัสดุนั้นๆ ในการเล่ามากกว่า” นิวเสริมขึ้นมาอย่างเหมาะเจาะ เป็นการขมวดนิยามชิ้นงานของ Makkha ที่เลื่อนไหลไปมาระหว่างเรื่องเล่าของวัสดุกับกระบวนการที่พวกเขาหลงใหล
อ่านต่อ https://readthecloud.co/makkha-design-studio/